ชาวนาไทยหลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน เป็นภาพที่ผมได้เห็นตั้งแต่เกิดเพราะพ่อแม่ ปู่ย่า ตายายของผมได้มอบมรดกตกทอดให้ผมมาโดยกำเนิด เป็นความสุขใจอย่างมากที่ได้มีที่อยู่ที่อาศัยที่ทำกินมีกรรมสิทธ์เป็นของตนเองแม้ว่าจะทุกข์
แม้ว่าช่วงเวลาของชีวิตได้ทิ้งบ้านเกิดเพื่อเดินทางไปเรียนหนังสือและทำงานที่เมืองหลวงเพื่อแสวงหาโอกาสใหม่ๆในชีวิตเพื่อต้องการหลีกหนีความยากจนของสังคมชนบท ตลอดเกือบ 50 ปีที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาในชีวิตทำให้คิดได้ว่า ความสุขที่ยิ่งใหญ่ของคนเราอยู่ที่ใจ ไม่ใช่ชื่อเสียงไม่ใช่ทรัพย์สินเงินทองมากมายแต่ประการใด การมีพออยู่พอกินไม่มีหนี้สิน มีร่างกายที่แข็งแรงต่างหากที่จะทำให้คนเรามีความสุข
ทุกข์ของชาวนาคืออะไร?
ด้วยที่ผมเป็นลูกชาวนา ปัจจุบันพ่อแม่ก็ยังทำนาอยู่ เมื่อได้ศึกษาอย่างถ่องแท้แล้ว ทุกข์ของชาวนาเกิดจากการที่ชาวนาขาดความรู้ ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลข่าวสารต่างๆเพื่อที่จะนำไปพัฒนาอาชีพของตนเอง ไม่สามารถปรับเปลี่ยนชีวิตให้เข้ากับโลกสมัยใหม่ได้ ไม่มีความรู้ความสามารถในการที่จะไปสร้างผลผลิตให้มีประสิทธิภาพ ไม่มีเงินทุน ไม่มีการตลาด ไม่มีเทคโนโลยี ทำให้ผลผลิตต่ำอย่างน่าใจหาย ไม่สามารถเพิ่มผลผลิตได้ ผลผลิตที่ได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพและไม่สามารถนำไปจำหน่ายเพื่อมาเป็นรายได้เพื่อเลี้ยงครอบครัว สุดท้ายก็ต้องเป็นหนี้ ต้องกู้หนี้ยืมสิน เกษตรกรส่วนใหญ่ก็ต้องเอาที่นาของตนเองไปกู้หนี้จากธนาคาร ธกส กู้เงินจากสหกรณ์การเกษตร กู้เงินนอกระบบซึ่งดอกเบี้ยแพงมากๆ
มีหนทางที่พอเป็นไปได้ที่จะทำให้ชาวนาไทยมีโอกาสได้ลืมตาอ้าปากโดยไม่มีหนี้สิน ปลดหนี้ได้ก็คือการใช้แนวคิด หลักปรัชญา "เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy)" เพื่อนำมาปรับใช้ในการปลดหนี้ หลายคนสงสัยว่า "เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy)" สามารถจะเกิดขึ้นกับชาวนาไทยได้อย่างไร ผมเห็นว่าเกิดขึ้นได้ถ้าชาวนาไทยได้ผู้นำที่มีความรู้ความสามารถ เป็นคนที่เสียสละ ไม่หาผลประโยชน์ ไม่โลภ สร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ขึ้นมาให้เกิดเป็นสังคมต้นแบบเพื่อขยายไปสู่สังคมทั่วประเทศต่อๆไป
Credit : คุณวิโรจน์ เย็นสวัสดิ์ | Facebook